ที่มาและความสัมพันธ์โครงการ

     ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจโลก โครงสร้างประชากร เทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่องโดยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศษฐกิจทั้งระบบ เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในภาคเกษตรอุตสาหกรรม บริการ และการท่องเที่ยว มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในพื้นที่เขตเมืองและเชื่อมโยงกับพื้นที่รอบข้าง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในภาคการขนส่ง

       ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งได้เร่งผลักดันให้มีการพัฒนา เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้มีการลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ให้เป็นจุดศูนย์กลาง ดึงดูดการลงทุน รวมทั้งการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การเกษตร และการค้าผ่านแดน ที่สามารถพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ที่ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์) กับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย โดยจะสามารถขนส่งสินค้าออกทางทะเลได้ทั้งทางท่าเรือทวายไปสู่ประเทศแถบมหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป และที่ท่าเรือแหลมฉบังไปสู่ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นความได้เปรียบของพื้นที่ที่มีประตูทางออก ทั้งสองฝั่งมหาสมุทร

        กลุ่มจังหวัดภาคกลางได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็นศูนย์กลางการผลิตและตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมปลอดภัยการท่องเที่ยวคุณภาพ โดยมีโครงการสำคัญเพื่อการพัฒนาพื้นที่ เช่น การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชื่อมกรุงเทพฯ – กาญจนบุรี การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นประตูเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ การพัฒนาด่านชายแดนไทย – สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ บ้านพุน้ำร้อน ด่านเจดีย์สามองค์ และด่านสิงขร เพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุน และ การท่องเที่ยวกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และการพัฒนาพื้นที่เมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ของภาคกลางตามแนวแกนหลักการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 ณ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี) ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ ซึ่ง สศช. ได้เสนอกรอบการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระจายความเจริญและ สร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยสนับสนุนให้มีการเปิดประตูการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับพื้นที่ภาคกลางและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งยังได้เสนอให้ศึกษาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ ฝั่งภาคตะวันตกและสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการในภาพรวม และเชื่อมโยงถึงภาคตะวันออกต่อไป เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนา ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจที่สมบูรณ์

        พื้นที่ภาคใต้มีที่ตั้งที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นประตูการคมนาคมเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย รวมทั้งมีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ทั้งทางบกและทางทะเล ที่สามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และกลุ่มประเทศ BIMSTEC และยังสามารถเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจในแนวเหนือ – ใต้ เข้าสู่พื้นที่ภาคกลางและเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ ในคราวประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบตามที่ สศช. เสนอ ในการศึกษา ความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร – ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี – นครศรีธรรมราช (การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) หรือ Southern Economic Corridor (SEC) ภายใต้กรอบการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง และ (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทั้งนี้ มุ่งหวังให้ SEC เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และเป็นต้นแบบการพัฒนาศูนย์กลางความเจริญแต่ละภูมิภาคของประเทศ หลังจากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ณ จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561

             สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมของพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ และเชื่อมโยงภาคตะวันออกของประเทศไทยดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันขาดการบูรณาการระหว่างกัน โดยไม่มีการพัฒนาเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่มีศักยภาพ ทั้งด้านการขนส่งเชื่อมโยงทางทะเลและการท่องเที่ยว ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก และพื้นที่เชื่อมโยงที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ GMS เพื่อสนับสนุนภาคการผลิต การบริการ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงได้จัดทำโครงการศึกษาจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคใต้ เชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS เพื่อสนับสนุน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

วัตถุประสงค์ของโครงการ

กลุ่มพื้นที่จังหวัด